เหรียญทรงพระผนวช

                 เหรียญทรงพระผนวช

พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งฉายไว้ในขณะทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานบนเหรียญที่ระลึกหลายครั้ง  เหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่แสวงหาของนักสะสมคือ เหรียญที่ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2508 รู้จักกันในนาม เหรียญทรงผนวช

ความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวช ไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง ด้วยจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึงเก้าปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี พ.ศ. 2499  แต่ "เหรียญทรงผนวช" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล จาตุรงคมงคล 

ประวัติความเป็นมาของการสร้าง เหรียญทรงผนวช มีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 38 พรรษา เสมอสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และในวโรกาสเดียวกันนี้ ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสำคัญอีก 3 ประการต่อเนื่องกันไป เมื่อประมวลพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในคราวเดียวกันถึง 4 อย่าง ระหว่างวันที่ 27 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 จึงเรียกมหามงคลสมัยนี้ว่า จาตุรงคมงคล 

จาตุรงคมงคล หรือการพระราชพิธีอันเป็นมงคล 4 ประการมีดังนี้

1.  
พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พิธีจัดขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ในวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ทรงทอดผ้าพระสงฆ์ 38 รูป ทรงประเคนผ้าไตร ย่าม และพัดที่ระลึกแก่พระสงฆ์ 38 รูปเท่าพระชนม์สมเด็จพระราชบิดา

2.  พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร มีพระปรมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์  พิธีบวงสรวงและพุทธาภิเษกแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูป จัดขึ้น ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508  สำหรับพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป จัดขึ้น ณ มณฑลพิธี สนามโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508

3.  พระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์  ในวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เมื่อทรงเททองหล่อพระพุทธรูปปางประทานพรมีพระปรมาภิไธย ภปร ประดับผ้าทิพย์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเจดีย์ทองหลังพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์ ทรงประกอบพิธียกลูกแก้วขึ้นประดิษฐานยอดพระเจดีย์ เสด็จฯ ขึ้นสู่ภายในองค์พระเจดีย์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงปิดทองพระไพรีพินาศ และทรงเจิมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

4.  พระราชพิธีอันเป็นมงคลประการที่สี่ ซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายใน "จาตุรงคมงคล" คือ เมื่อเสร็จพระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์แล้ว เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังพระอุโบสถ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมศิลาแผ่นแรกที่จะผนึกผนังพระอุโบสถ เป็นปฐมฤกษ์ที่จะผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถในกาลต่อไป 

แผ่นศิลาปฐมฤกษ์ผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถนี้ จารึกข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นศิลาปฐมฤกษ์ ผนึกเปลี่ยนผนังพระอุโบสถนี้ ในมหามงคลสมัย มีพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระราชบิดา วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘"

เนื่องใน "จาตุรงคมงคลสมัย" ดังกล่าวมาข้างต้น วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก ด้านหนึ่งมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ขอบเหรียญด้านบนมีข้อความว่า "ทรงผนวช ๒๔๙๙" มีพระปรมาภิไธยว่า "ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ภูมิพโล" ซึ่งถ่ายจากลายพระหัตถเลขาในสมุดทะเบียนของวัดในขณะทรงผนวช  อีกด้านหนึ่งมีรูปพระเจดีย์วัดบวรนิเวศวิหาร มีข้อความโค้งตามขอบเหรียญว่า "เสด็จฯ สมโภชพระเจดีย์ทองบวรนิเวศ ๒๙ สิงห์ ๒๕๐๘ ในมงคลสมัยพระชนมายุเสมอสมเด็จพระราชบิดาความเป็นมาของ "เหรียญทรงผนวช" จึงมีด้วยประการฉะนี้

Visitors: 1,279,803